ค่าสี Adobe RGB และ sRGB เลือกแบบไหน ใช้อย่างไร?
การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล หรือ กล้อง DSLR จะมีเมนูให้เลือกระหว่าง ปริภูมิสี (Color Space) ที่เป็น sRGB หรือ Adobe RGB หลายคนสงสัยว่า ปริภูมิสีทั้ง 2 แบบแตกต่างกันอย่างไร? และเลือกแบบไหนถึงจะถูกต้อง? ทั้ง ๆ ที่ลองนำภาพถ่ายมาเปิดบนคอมพิวเตอร์ ก็ยังได้สีที่ไม่ตรงกันสักที V mount มีคำตอบดี ๆ มาฝาก
Color Space
หรือ ปริภูมิสี หมายถึง สีที่เป็นปรากฏการณ์การรับรู้ของมนุษย์ เกิดจากแสงไปตกกระทบบนเรตินาภายในตาของเรา แล้วเรตินาจะมีเซลล์รับแสง ซึ่งส่งสัญญาณสีไปยังสมอง จากนั้นสมองจะแปลออกมาเป็นสี ซึ่งการรับรู้ผ่านการมองเห็นและความสามารถในการมองเห็นของคนเราแตกต่างกัน แต่เป็นความแตกต่างที่มีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากความสามารถในการมองเห็นสีของเรา สามารถมองเห็นเป็นล้านสี แต่คำที่ใช้อิบายสีที่เห็นมีแค่หลักพันเท่านั้น
sRGB
ปริภูมิสีมาตรฐาน (Standard color space) ถูกสร้างขึ้นโดยทางนักวิจัยของ Hewlett-Packard ร่วมกันกับ Microsoft เพื่อกำหนดค่าสีภาพที่ได้จากกล้องถ่ายภาพ โดยมีสีอ้างอิงว่า ค่า RGB นั้น ๆ ตรงค่าสีอะไรที่เราเห็นบ้าง โดยเป็นข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับจอภาพทั่ว ๆ ไป โดยเน้นไปที่จอ CRT เรียกกว่า Standard RGB หรือเขียนกันสั้น ๆ ว่า sRGB เหมาะสำหรับงานอินพุท – เอาท์พุท ซึ่งความแตกต่างของสีสามารถทำให้ลดน้อยลงในระหว่างอุปกรณ์ที่แตกต่างกันเพื่อสร้างสีที่ต้องการขึ้นมา ช่วงของสีต่าง ๆ จึงสามารถแสดงออกมาได้จำกัด (ประมาณ 35%) ของสีที่มองเห็นได้จริงตามมาตรฐานของ CIE (Commission International de l’ éclairage) ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป
Adobe RGB
Adobe RGB 1998 คือผลงานของ Adobe Systems Inc. (ผู้ผลิต Photoshop และอีกหลาย ๆ โปรแกรมที่มีชื่อเสียงทางด้านสิ่งพิมพ์) ซึ่งจะเห็นได้ว่า มี Color Space ที่ใช้งานได้กว้างขึ้น จึงพัฒนาปริภูมิสีดังกล่าวขึ้นมา เพื่อรองรับงานระดับ “มืออาชีพ” โดยมีระบบการจัดการแบบมืออาชีพ และสามารถแสดงช่วงสี ได้ถึง 50% จากสีที่มองเห็นได้จริง
แล้วจะเลือกใช้แบบไหนดีล่ะ?
หากถ่ายภาพเพื่อนำไปทำเป็นสิ่งพิมพ์ ควรใช้ Adobe RGB เพราะเป็น Color Space ที่เหมาะสำหรับการพิมพ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ให้ขอบเขตสีที่กว้าง ในทางกลับกัน หากต้องการส่งออกภาพไปยังจอภาพ หรือเครื่องปริ้นรูปตามร้านอัดขยายรูปสีทั่วไป ควรใช้ปริภูมิสี sRGB เพราะเป็นมาตรฐานของการผลิตสี
.