22 คำศัพท์สุดฮิตมาแรง ปี 2022 ที่คนไทยควรรู้!

ปัจจุบันได้มีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นหลายคำ ที่ผันแปรไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลก บางคำเราอาจเคยได้ยินมาแล้ว แต่อาจไม่รู้ความหมายที่แท้จริง หากเราทำความเข้าใจคำศัพท์ใหม่เหล่านั้น เราก็จะก้าวทันโลกและคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

1. ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance–DeFi)

ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) หรือ DeFi มีเป้าหมายในการให้บริการทางการเงินต่าง ๆ เกิดขึ้นได้โดยตรงระหว่างต้นทางและปลายทางของธุรกรรมการเงิน เช่น การโอนเงิน ปกติจะต้องมีธนาคารเป็นตัวกลางระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน แต่ DeFi จะช่วยให้เกิดการโอนเงินโดยตรงระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ระบบนี้มีความน่าเชื่อถือคือ บล็อกเชน (Blockchain)

2. บล็อกเชน (Blockchain)

เปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เราจึงรู้ว่าใครมีสิทธิและเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้จริง ๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเรียกรูปแบบการเก็บและแชร์ข้อมูลแบบนี้ว่า Blockchain ซึ่งเมื่อธุรกรรมต่าง ๆ ถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว จะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมด จึงไม่มีใครสามารถปลอมแปลงข้อมูล โดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่

.
เมื่อข้อมูลใหม่เกิดขึ้นก็จะเกิดบล็อกใหม่เชื่อมต่อกันกับบล็อกเดิมไปเรื่อย ๆ และทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายจะรับรู้พร้อมกัน หากมีแฮ็กเกอร์เข้ามาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่จุดหนึ่งในระบบ การแฮ็กจะสำเร็จได้จะต้องแฮ็กคนส่วนใหญ่ในเครือข่ายพร้อมกัน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงเป็นตัวที่ทำให้เกิด DeFi ขึ้นได้นั่นเอง เพราะบล็อกเชนถูกนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลที่ถูกส่งให้กับทุกคนในเครือข่ายโดยไม่ผ่านตัวกลาง และระบบยังมีความปลอดภัยสูง จากการตรวจสอบของทุกคนในเครือข่าย

3. คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)

นวัตกรรมทางการเงินที่นำข้อดีของบล็อกเชนมาใช้ เว็บไซต์ฟอร์บส์ระบุนิยามของคริปโตเคอร์เรนซีไว้ว่า คือเงินดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลางซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยเว็บไซต์ Investopedia ระบุว่า ณ เดือน พ.ย. 2021 มีคริปโตเคอร์เรนซีหมุนเวียนอยู่ในระบบมากกว่า 14,000 สกุล

4. บิตคอยน์ (Bitcoin)

ฟอร์บส์ ระบุว่า บิตคอยน์คือคริปโตเคอร์เรนซีสกุลแรก เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ไร้ตัวกลาง ที่คุณสามารถซื้อ, ขาย และแลกเปลี่ยนกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ผู้สร้างบิตคอยน์ ระบุถึงความจำเป็นในการมีบิตคอยน์ว่า “เพื่อเป็นระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้การพิสูจน์การเข้ารหัส แทนความไว้เนื้อเชื่อใจ”
.
โดยถูกสร้างในเดือน ม.ค. ปี 2009 และเผยแพร่แนวคิดของบิตคอยน์ไว้ในเอกสารในปี 2008 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “ซาโตชิ นากาโมโตะ” ซึ่งตัวตนของผู้ที่สร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นยังเป็นปริศนา โดยจำนวนของบิตคอยน์ถูกกำหนดไว้สูงสุดที่ 21 ล้านเหรียญ

5. เงินบาทดิจิทัล (Digital Baht)

ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยไม่ต้องใช้เงินที่พิมพ์ออกมาในรูปแบบของธนบัตรกระดาษหรือเหรียญกษาปณ์ เรียกเงินชนิดนี้ว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency–CBDC) หรือในกรณีของไทยก็คือ เงินบาทดิจิทัล

6. เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้ (Non-Fungible Token–NFT)

นอกจากนี้ มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้กับงานศิลปะและทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เหรียญที่ไม่สามารถทดแทนได้ (non-fungible token–NFT) หรือ เอ็นเอฟที คือ การรับรองทางดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ที่ให้การยืนยันผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีความเฉพาะเจาะจง โดยในวงการคริปโตอาร์ต เอ็นเอฟทีแต่ละเหรียญจะเป็นตัวแทนการเป็นเจ้าของผลงานศิลปะของแท้ 1 ชิ้น มีรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเช่น ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนั้นขึ้นมาคือใคร ผลงานถูกขายเมื่อไหร่ และใครซื้อไปบ้าง

7. เกมที่เล่นแล้วได้เงิน (Play-To-Earn Games)

เป็นวิวัฒนาการที่ต่อมาจากรูปแบบของเกม 2 ยุคคือ เกมที่ต้องจ่ายเงินเพื่อเล่น (pay-to-play) และเกมที่เล่นโดยไม่เสียเงิน (free-to-play)

.
เว็บไซต์ one37pm ระบุว่า เกมที่เล่นแล้วได้เงินเป็นแบบจำลองทางธุรกิจแบบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเกมครอบครองทรัพย์สินที่พวกเขาสามารถนำไปขายเป็นเงินในตลาดได้ ในขณะที่เล่นเกม พวกเขาจะได้รับเงินสกุลที่นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริง ๆ ได้ ทรัพย์สินบางอย่างเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของเอ็นเอฟที ซึ่งอาจจะเป็นชุดที่ใส่ในเกม อาวุธ หรือแม้แต่สัตว์ที่คุณเพาะพันธุ์ขึ้นมาในเกม แทนที่จะเสียเงินซื้อหาสิ่งของเหล่านี้ในเกม คุณก็สามารถที่จะหาเงินจากการเล่นเกมได้

8. ความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality–VR) กับ ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality–AR)

อุตสาหกรรมเกมนั้นพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality—VR) หรือ วีอาร์ และความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality—AR) หรือ เออาร์ มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมมากขึ้น แต่เทคโนโลยี้ถูกนำไปใช้ในหลากหลายวงการด้วยเช่นกัน
.
วีอาร์ คือ การจำลองภาพให้เสมือนจริง แบบ 360 องศา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะต้องใช้ควบคู่ไปกับแว่นตาวีอาร์ โดยผ่านการรับรู้ของเราไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น เสียง การสัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น และทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้
.
เออาร์ คือ การนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น เว็บแคมคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยวัตถุเสมือนที่ว่านั้น อาจจะเป็น ภาพ วิดีโอ เสียง ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประมวลผลมาจากคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์สวมใส่ขนาดเล็กต่าง ๆ และทำให้เราสามารถตอบสนองกับสิ่งที่จำลองนั้นได้

9. เมตาเวิร์ส (Metaverse)

ถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคทศวรรษ 1990 ในนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash แต่เพิ่งถูกพูดถึงกันมากในช่วงไม่นานนี้ และยังไม่มีนิยามที่ชัดเจน เมทาเวิร์สกลายเป็นคำที่คุ้นหูมากยิ่งขึ้น เมื่อเฟซบุ๊กถึงกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta (เมตา) เพื่อสื่อถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างเมตาเวิร์สให้เกิดขึ้นในอนาคต
.
เมื่อต้นเดือนธันวาคม ราชบัณฑิตยสภามีมติบัญญัติคำว่า Metaverse ให้มีชื่อภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิต” ส่วนคำว่า Metaverse สามารถเขียนเป็นคำทับศัพท์ว่า “เมตาเวิร์ส”

10. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้นิยามของคำว่า “ปัญญา” ไว้ว่า “ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด” หากแปลตามตัวปัญญาประดิษฐ์ คือ ความฉลาดที่เกิดจากการเรียนและการคิดที่มาจากการประดิษฐ์ขึ้น หรือ การทำให้เครื่องจักรกลคิดได้เองเหมือนกับมนุษย์
.
เว็บไซต์ไทยโปรแกรมเมอร์ ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ คือ เครื่องจักร(machine) ที่มีฟังก์ชันที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การรับรู้ การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเอไอให้มีความสามารถมากขึ้น และมีการใช้งานในหลากหลายวงการ

11. คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computer)

คอมพิวเตอร์ควอนตัมต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปในปัจจุบันตรงรูปแบบการเก็บข้อมูลที่เปลี่ยนไป โดยคอมพิวเตอร์ควอนตัมมีหน่วยเล็กที่สุดของข้อมูลเป็นคิวบิต (qubit) ซึ่งสามารถเป็นเลขฐานสอง 0 และ 1 ได้พร้อมกันทั้ง 2 ตัวในเวลาเดียวกัน มีคุณสมบัติคำนวณได้เร็วยิ่งกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์หลายพันเท่านั้น ช่วยให้คนเราไขปัญหาซับซ้อน รวมทั้งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดสูงยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

12. คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์คือความหมายของคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่เรามักจะเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ก๊าซเรือนกระจก โดยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม เท่ากับ คาร์บอนฟุตพรินต์ 1 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่มักจะมีการคำนวณน้ำหนักต่อปีและใช้หน่วยเป็น ตันคาร์บอนไดออกไซด์
.
การรณรงค์โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุไว้ว่า หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม เท่ากับเราปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์เทียบเท่า 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

13. เน็ตซีโร (Net Zero)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เรื่องนี้มีความสำคัญต่อเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่า จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อโลกบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
.
ดังนั้น การไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้เพิ่มขึ้นไปในชั้นบรรยากาศอีก จะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือชดเชยด้วยการกำจัดก๊าซดังกล่าวเท่ากับจำนวนที่ปล่อยออกไป

14. การฟอกเขียว (Greenwashing)

การฟอกเขียว เป็นการทำการตลาดประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าดึงดูดใจต่อลูกค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยทำให้ลูกค้าคิดว่า การใช้ผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม..ทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น!

15. ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop)

ไฮเปอร์ลูป ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลอง โดยมีแนวคิดมาจากรถไฟแม็กเลฟ (maglev) ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างแรงยกตัวให้รถไฟวิ่งไปโดยที่ลอยอยู่เหนือรางแทนการใช้ล้อ แต่ไฮเปอร์ลูป จะใช้ยานพาหนะที่เรียกว่า “พ็อด” วิ่งไปในอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง
.
ในการทดสอบในทะเลทรายรัฐเนวาดาของ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) บริษัทด้านเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯ เมื่อ พ.ย. 2020 พ็อดที่มีผู้โดยสารสองคน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สามารถเดินทางไปตามทางวิ่งยาว 500 เมตร โดยใช้เวลา 15 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุด 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสร้างขึ้นจากแนวคิดของนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ซึ่งได้เสนอแนวคิดระบบขนส่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2013 ซึ่งตั้งเป้าว่า จะพัฒนาระบบนี้ให้มีความเร็วสูงสุดที่ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางในอนาคต

16. ความรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)

“ความรุ่งเรืองร่วมกัน” ภาษาจีนกลางคือคำว่า “ก้งถงฟู่อวี้” คำนี้มาจากแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งรับปากว่าจะทำให้สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น มีชนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้นและจำนวนมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ควรจะเป็นฝ่ายให้แทนที่จะแค่รับอย่างเดียว
.
“ชีวิตชาวจีนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอยู่กับทุนนิยมแบบของจีนมาโดยตลอด แม้ว่าตามหลักการแล้ว จีนคือประเทศคอมมิวนิสต์” สตีเฟนส์ เขียนไว้ในบทความ เขาระบุว่า จีนมักจะอ้างว่า แนวคิดสังคมนิยม “ที่เป็นลักษณะเฉพาะของจีน” ทำให้รัฐบาลมีทางเลี่ยงในการกำกับดูแลสังคมซึ่งในหลายกรณีไม่ถือว่าเป็นสังคมนิยมเลย นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ดูเหมือนจะตัดสินใจแล้วว่า จะปล่อยให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไปไม่ได้แล้ว รัฐบาลจีน ภายใต้การนำของเขา ได้เริ่มนำพาความเป็นคอมมิวนิสต์กลับมาสู่พรรคคอมมิวนิสต์อีกครั้ง อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

“ความรุ่งเรืองร่วมกัน” คือหลักการพื้นฐานของสิ่งที่ผู้นำจีนกำลังทำอยู่ และอาจจะมีการออกนโยบายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อหลักการนี้

17. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

กรมกิจการผู้สูงอายุของไทย ระบุว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอีกไม่ถึง 15 ปีข้างหน้า ไทยจะแซงสิงคโปร์ ปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี ซึ่งในปี 2568 อายุของคนไทยโดยประมาณจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งอายุยาวนานขึ้น ทำให้ยิ่งต้องเตรียมเงินเยอะขึ้น
.
กรมกิจการผู้สูงอายุระบุว่า ข้อมูลของ United Nations World Population Ageing แบ่งสังคมผู้สูงอายุเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

18. นอน-ไบนารี (Non-Binary)

คำที่หมายถึงคนที่ไม่เห็นว่าเพศของตัวเองจำกัดอยู่กับเฉพาะกับเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งคนบางส่วนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใช้คำนี้ บางคนรู้สึกว่า พวกเขาอยู่บนแถบสเปกตรัม และอาจจะนิยามเพศของตัวเองว่า อยู่จุดใดจุดหนึ่งระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

19. แว็กซ์ (Vax)

แว็กซ์ ได้รับเลือกจากนักพจนานุกรมของพจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ็อกซ์ฟอร์ด ให้เป็นคำแห่งปี 2021 โดยคำนี้มีนิยามตามความหมายในพจนานุกรมของอ็อกซ์ฟอร์ดว่า เป็นคำนาม หมายถึง วัคซีน หรือการให้วัคซีน เป็นคำกริยา หมายถึง รักษาด้วยวัคซีนเพื่อให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค , ให้วัคซีน

.
นอกจากนี้ ยังมี แว็กซ์ซี (vaxxie) ซึ่งเป็นคำนามหมายถึง รูปที่คนถ่ายระหว่าง, ก่อนหรือหลัง การรับวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และมักจะมีการแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย แอนตี้-แว็กซ์ (anti-vax) เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ต่อต้านการให้วัคซีน และแอนตี้-แว็กซ์เซอร์ (anti-vaxxer) เป็นคำนาม หมายถึง คนที่ต่อต้านการให้วัคซีน

20. พาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport)

หลังจากโลกของเราเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 ทำให้ต้องใช้มาตรการจำกัดการระบาดต่าง ๆ แต่หลังจากเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิดแก่คนทั่วโลก ผลกระทบจากการระบาดเริ่มลดลง จึงเริ่มมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และหนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้คือ พาสปอร์ตวัคซีน ซึ่งหมายถึง หลักฐานที่รับรองว่าบุคคลได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 หรือเคยติดโรคนี้แล้ว เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 ได้ และทำให้มีแนวโน้มจะติดหรือแพร่เชื้อโรคนี้ได้น้อยกว่าคนทั่วไป อาจอยู่ในรูปแบบของใบรับรองหรือในรูปแบบดิจิทัลที่อยู่ในแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์สมาร์ตโฟนก็ได้

21. อยู่กับโควิด (Live with Covid)

โควิด-19 แพร่ระบาดมาแล้วราว 2 ปี ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ และผู้คนยังพยายามทำความเข้าใจเชื้อโรคชนิดนี้มากขึ้น หลายประเทศใช้นโยบายปลอดโควิด (zero covid) เพื่อพยายามควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ ส่งผลให้มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานาน ควบคุมการเดินทางของผู้คน ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล

.
แต่เมื่อเวลาผ่านไป และเริ่มมีการตระหนักว่า การระบาดอาจจะเกิดขึ้นต่อไป โดยเชื้อไวรัสโคโรนาอาจจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แต่การมีวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของอาการ และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงอย่างมาก ทำให้หลายประเทศเลือกที่จะใช้นโยบายอยู่กับโควิด ซึ่งหมายถึงการควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับที่รับมือได้ และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

.

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้นโยบายนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำแนวคิดในการจัดการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ของไทยเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาว่า คือการ “อยู่กับโควิด-19 ให้ได้”

22. การฟื้นตัวแบบรูปตัวเค (K-shaped Recovery)

ลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในหลายประเทศช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประเทศไทย โดยเว็บไซต์ Investopedia อธิบายว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบรูปตัวเคเกิดขึ้นหลังจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่หลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวในอัตราที่แตกต่างกัน ใช้เวลาไม่เท่ากันและมีขนาดการฟื้นตัวที่ต่างกัน
.
ดร.ดอน นาครทรรพ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า “การฟื้นตัวแบบรูปตัว K เป็นการมองในรูปขององค์ประกอบย่อย หลัก ๆ คือ นักเศรษฐศาสตร์มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสองกลุ่มที่ไม่ไปด้วยกัน โดยกลุ่มหนึ่งฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ฟื้น หรือกระทั่งย่ำแย่ลงต่อเนื่อง เหมือนกับเส้นทแยงมุมของตัวอักษร K ที่มีทั้งชี้ขึ้นและชี้ลง”

คราวนี้ เราก็สามารถพูดคุยและเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้แล้ว V Mount หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะก้าวทันทุกความเคลื่อนไหวและความเป็นไป ในยุค New Normal รวมทั้งสถานการณ์โควิด 19 ที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วด้วยความเข้าใจและแข็งแกร่งกันทุกคนนะคะ

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *