ชนิดกระดาษ
กระดาษอาร์ต (Art Paper)
กระดาษชนิดนี้เนื้อจะแน่น ผิวเรียบ เหมาะสำหรับงานพิมพ์สี่สี เช่น โปสเตอร์ โบรชัวร์ ปกวารสาร ฯลฯ มีให้เลือกหลายแบบ ได้แก่
- กระดาษอาร์ตมัน เนื้อกระดาษเรียบ เป็นมันเงา พิมพ์งานได้ใกล้เคียงกับสีจริง สามารถเคลือบเงาได้ดี ความหนาของกระดาษมีดังนี้ 85 แกรม, 90 แกรม, 100 แกรม, 105 แกรม, 120 แกรม ,130 แกรม, 140 แกรม, 160 แกรม
- กระดาษอาร์ตด้าน เนื้อกระดาษเรียบ แต่เนื้อไม่มัน พิมพ์งานสีจะซีดลงเล็กน้อย แต่ดูหรู ความหนาของกระดาษมีดังนี้ คือ 85 แกรม, 90 แกรม, 100 แกรม, 105 แกรม, 120 แกรม , 130 แกรม, 140 แกรม, 160 แกรม
- กระดาษอาร์ตการ์ด 2 หน้า เป็นกระดาษอาร์ตที่หนาตั้งแต่ 190 แกรมขึ้นไป เหมาะสำหรับพิมพ์งานโปสเตอร์ โปสการ์ด ปกหนังสือ หรืองานต่างๆ ที่ต้องการความหนา
- กระดาษอาร์ตการ์ด 1 หน้า เป็นกระดาษอาร์ตที่มีความแกร่งกว่ากระดาษอาร์ตการ์ด 2 หน้า หนาตั้งแต่ 190 แกรมขึ้นไป เหมาะสำหรับพิมพ์งานที่ต้องการพิมพ์์แค่หน้าเดียว เช่น กล่องบรรจุสินค้าต่างๆ โปสเตอร์ โปสการ์ด ปกหนังสือ เป็นต้น
กระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ท (Inkjet Glossy paper)
เป็นกระดาษที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ภาพถ่ายหรืองานสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่ให้ความคมชัดและสวยงามและรายละเอียดที่ดีกว่ากระดาษธรรมดา เพราะมีการเคลือบผิวมาสำหรับงานด้านภาพถ่าย ทำให้ได้งานพิมพ์ที่สีสวย สด คมชัด กระดาษโฟโต้จะสามารถกันน้ำได้ ส่วนใหญ่ใช้ได้กับปริ้นเตอร์อิงค์เจ็ท การแบ่งประเภทของกระดาษโฟโต้นั้น สามารถแบ่งได้สองแบบ คือ จากรูปแบบของการเคลือบผิว และ รูปแบบของผิวกระดาษ
การแบ่งประเภทกระดาษโฟโต้จากการเคลือบผิว
- Cast Coated เป็นการเคลือบผิวแบบด้านเดียว สามารถทำได้แต่กระดาษผิวมัน และสีผิวจะออกสีขุ่นๆ สามารถกันน้ำได้ แต่ไม่กันการขีดข่วน ราคาถูก
- Resin Coated เป็นการเคลือบผิวทั้งสองหน้า สามารถทำได้ทั้งผิวมัน และ ผิวด้าน สีผิวจะออกสว่าง สามารถกันน้ำและรอยขีดข่วนได้ ราคาสูงกว่า Cast coated แต่ให้งานพิมพ์ที่สีสวยกว่า
การแบ่งประเภทกระดาษโฟโต้จากชนิดของผิวหน้า
- ผิวมัน (Glossy) เป็นแบบที่นิยมใช้กันมากในกลุ่ม user ทั่วไป เนื่องจากมีความมันวาว ทำให้ดูสวยงาม แต่มีข้อเสีย คือ หากเคลือบไม่ดี เมื่อสัมผัสถูกกระดาษจะเป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย และเมื่อเก็บไว้ในอัลบั้มหรือกรอบรูปนานๆ จะเอาออกไม่ได้ เพราะรูปจะติดอัลบั้ม หรือ กระจก
- ผิวด้าน (Matte) นิยมใช้มากในหมู่ช่างภาพ และร้านถ่ายรูป เนื่องจากดูสวยและเหมาะกับภาพถ่ายสตูดิโอ รวมถึงภาพถ่ายติดบัตรต่างๆที่ใช้ในงานราชการบางอย่างที่ต้องประทับตราลงบนรูป กระดาษโฟโต้ผิวมันจะประทับตราไม่ติด ต้องใช้ผิวด้านเท่านั้น สามารถสัมผิสได้ ไม่เป็นรอยนิ้วมือ
กระดาษปอนด์ (Pond Paper)
เป็นกระดาษเนื้อเรียบสีขาว ความหนากระดาษที่นิยมใช้พิมพ์หนังสืออยู่ที่ 70-100 แกรม นิยมใชพิมพ์งานสีเดียว หรือพิมพ์สี่สีก็ได้แต่ไม่สวยเท่ากระดาษอาร์ต สามารถเขียนได้ง่ายกว่าทั้งปากกา และดินสอ เหมาะสำหรับพิมพ์เนื้อในหนังสือ หรือกระดาษหัวจดหมาย
กระดาษการ์ด (Card Board)
เป็นกระดาษที่มีความหนา และแข็งแรงประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านมักเป็นสีขาว แต่ก็มีการ์ดสีต่างๆ ให้เลือกใช้ บางชนิดมีผิวเคลือบมันเรียบ ซึ่งเรียก กระดาษอาร์ตการ์ด น้ำหนักกระดาษการ์ดอยู่ระหว่าง 110 – 350 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำปกหนังสือ บรรจุภัณฑ์ที่มีราคา เช่น กล่องเครื่องสำอาง
กระดาษแบงค์ (Bank Paper)
กระดาษ แบงค์เป็นกระดาษบางๆ มักจะมีสี เช่น สีชมพู สีฟ้า ใช้สำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์มหรือบิลต่างๆ ที่มีสำเนาหลายชั้น ความหนาประมาณ 55 แกรม ขึ้นไป
กระดาษถนอมสายตา (Green Read Pape)
เนื้อกระดาษสีครีม ออกสีตุ่นๆ และไม่ขาวจั๊วะเหมือนกระดาษขาวทั่วไป ผิวกระดาษที่ไม่เรียบเท่า ความสว่างของสีมีปริมาณน้อย ช่วยดูดกลืนแสงได้ดีทำให้ลดการสะท้อนแสงเข้าตา ประมาณ15 % ซึ่งทำให้ช่วยทำให้ถนอมสายตาในการอ่านหนังสือได้นาน เหมาะกับตำราเรียน หนังสือ นิตรสาร สมุด ไดอารี่ ออแกไนเซอร์ เพราะสีกระดาษทน ไม่เปลี่ยนสี ทำให้หนังสือไม่ดูเก่าลง และมีน้ำหนักเบากว่ากระดาษปอนด์ขาวทั่วไป พกพาสะดวกกว่า
กระดาษรีไซเคิล (Recycle Paper)
พิมพ์บนกระดาษรีไซเคิลช่วยลดโลกร้อน โดยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ กระดาษพรีเมี่ยม100% รีไซเคิลที่เราเลือกใช้นั้นนอกจากตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ผิวกระดาษท่ีพิมพ์ยังสวย สีคมชัด เหมาะสำหรับสิ่งพิมพ์ที่ต้องการความสง่างามที่แตกต่างออกไป
กระดาษฟอกขาว (Woodfree Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อที่ผลิตโดยใช้สารเคมี และฟอกให้ขาว เป็นกระดาษที่มีคุณภาพและมีความหนาแน่นสูง การดูดซึมน้อย ใช้สำหรับงานพิมพ์หนังสือ กระดาษพิมพ์เขียน ถึง 300 กรัม/ตารางเมตร
กระดาษเหนียว (Kraft Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อใยยาวที่ผลิตโดยใช้สารซัลเฟต จึงมีความเหนียวเป็นพิเศษ มีสีเป็นสีน้ำตาล น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 – 180 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของ ถุงกระดาษ
กระดาษสติ๊กเกอร์ (Sticker Paper)
กระดาษสติ๊กเกอร์คุณภาพดี สติ๊กเกอร์หลังเขียว (พื้นสีขาวทึบ) สามารถเคลือบกระดาษป้องกันน้ำ หมึกพิมพ์ติดแน่น ไม่กระจายตัวเมื่อโดนความชื้น มีความทนทาน สามารถติดสติ๊กเกอร์กับวัสดุผิวเรียบได้อย่างหลากหลายมากมาย เช่น บรรจุภัณฑ์ต่างๆ กระจก เป็นต้น
กระดาษแฟนซี (Fancy Paper)
เป็นคำเรียกโดยรวมสำหรับกระดาษที่มีรูปร่างลักษณะของเนื้อและผิวกระดาษที่ ต่างจากกระดาษใช้งานทั่วไป บางชนิดมีการผสมเยื่อที่ต่างออกไป บางชนิดมีผิวเป็นลายตามแบบบนลูกกลิ้งหรือตะแกรงที่กดทับในขั้นตอนการผลิต มีสีสันให้เลือกหลากหลาย มีทั้งกระดาษบางและหนา ประโยชน์สำหรับกระดาษชนิดนี้สามารถนำไปใช้แทนกระดาษที่ใช้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่นามบัตร หัวจดหมาย ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์
กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint)
เป็นกระดาษที่มีส่วนผสมของเยื่อบดที่มีเส้นใยสั้น และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสมด้วย กระดาษปรู๊ฟมีน้ำหนักเพียง 40 – 52 กรัม/ตารางเมตร มีสีอมเหลือง ราคาไม่แพงแต่ความแข็งแรงน้อย เหมาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่ไม่ต้องการคุณภาพมาก
กระดาษแข็ง (Hard Board)
เป็นกระดาษหลายชั้นแข็งหนาทำจากเยื่อไม้บดและเยื่อกระดาษเก่า มีผิวขรุขระสีคล้ำ มีคำเรียกกระดาษชนิดนี้อีกว่า กระดาษจั่วปัง น้ำหนักมีตั้งแต่ 430 กรัม/ตารางเมตรขึ้นไป ใช้ทำใส้ในของปกหนังสือ ฐานปฏิทินตั้งโต๊ะ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
กระดาษกล่อง (Box Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อบด และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสม มีสีคล้ำไปทางเทาหรือน้ำตาล ผิวด้านหนึ่งมักจะประกบด้วยชั้นของกระดาษขาวซึ่งอาจมีผิวเคลือบมันหรือไม่ก็ได้เพื่อความสวยงามและพิมพ์ภาพลงไปได้ หากเป็นกระดาษไม่เคลือบ จะเรียก กระดาษกล่องขาว หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก กระดาษกล่องแป้ง น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 – 600 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ป้ายแข็ง ฯลฯ